พึงรู้เถิดว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า สิทธิ์ความเท่าเทียมของมนุษย์นั้นเท่ากันภายใต้ดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์ มีวันหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้และก็จะมีวันที่พระเจ้าทรงรับเอาคืนไป แต่พระเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนแปลงพันธสัญญาของพระองค์ระหว่างมนุษย์กับพระองค์คือ “เราจะเป็นพระเจ้าของเจ้า และเจ้าจะเป็นประชากรของเรา” แน่นอนว่ามนุษย์เราไม่มีความไม่เท่าเทียมกันทางฐานะ การศึกษา ความเป็นอยู่ทางกายภาพและทางสังคม แต่พระเจ้าทรงทำให้เราทุกคนเท่าเทียมกันในพระเยซูคริสต์ ซึ่งหมายความว่า เรามีโอกาสและเงื่อนไขในกลับสู่ความเท่าเทียมนี้ที่พระเจ้าให้มาอย่างเท่าเทียมกัน
จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไท จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระเยซูคริสต์ -กาลาเทีย 3:28
สิ่งที่เขียนในกาลาเทียคือหัวใจของพระเจ้าที่ตั้งเป้าหมายการนำความเท่าเทียมกันกลับมาจากโลกที่สอนเราให้ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม พระเจ้าทรงให้ชุมนุมชนของพระเจ้าแบ่งปันกันเพื่อวันหนึ่งจะไม่มีคนที่ขัดสนจากความไม่เท่าเทียมกันทางฐานะ ในหนังสือกิจการ
เพราะว่าในพวกเขาไม่มีใครขัดสน ใครมีไร่นาบ้านเรือนก็ขายเสีย และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของบรรดาอัครทูต พวกอัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามความจำเป็น -กิจการ 4:34
ผมไม่ได้กำลังบอกว่าพระคัมภีร์กำลังเชียร์เรื่องคอมมี่หรือประชาธิปไตย แต่พระคัมภีร์กำลังสื่อหัวใจของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ และเพราะพระคุณที่คริสเตียนเราได้เปล่า ๆ จำเป็นต้องส่งต่อให้คนอื่นแบบเปล่า ๆ เช่นเดียวกัน
และเพราะว่ามนุษย์เราถูกสร้างขึ้นตามพระลักษณะของพระเจ้า (Imago Dei) ซึ่งพูดอย่างกระชับ คือ การมีมโนธรรม มีอารมณ์ความรู้สึก มีความคิด และมีอิสระ เสรีภาพในการตัดสินใจ จุดเริ่มต้นของมนุษย์นั้นพระเจ้าทรงสร้างแล้วบอกว่าดีและมนุษย์นั้นเป็นอมตะ เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนโลกนี้ ดังนั้น คริสเตียนไม่เชื่อเรื่องวรรณะ ระบบชนชั้น เพราะว่าทุกคนเกิดมาและเริ่มต้นจากพื้นฐานที่เท่ากันคือมีคุณลักษณ์สะท้อนความเป็นพระเจ้าในแต่ละคนเหมือนกัน
ตัวอย่างของการถูกหลอกที่คนของพระเจ้าในพระคัมภีร์เจอก็คือการยอมอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่มีพระเจ้าแต่มาจากมนุษย์ปุถุชน
ผมอยากจะชวนอ่านและพิจารณาตอน ๆ หนึ่งที่เกี่ยวกับการตั้งกษัตริย์ของอิสราเอลใน 1 ซามูเอล 8
ซามูเอลจึงเอาพระดำรัสทั้งสิ้นของพระยาห์เวห์มาบอกประชาชน ผู้ร้องขอให้ท่านตั้งพระราชา ท่านกล่าวว่า “นี่เป็นสิทธิของพระราชา ผู้ที่จะครอบครองเหนือพวกเจ้า พระองค์จะเกณฑ์พวกบุตรชายของเจ้า และกำหนดให้ประจำรถรบ และให้เป็นพวกพลม้า และให้วิ่งหน้ารถรบของพระองค์…พระองค์จะเอานา สวนองุ่น และสวนมะกอกที่ดีที่สุดของพวกเจ้า ให้แก่พวกข้าราชการของพระองค์…พระองค์จะเอาพวกคนใช้ชายและหญิง และพวกคนหนุ่มๆที่ดีที่สุดของพวกเจ้า และลาของพวกเจ้าไปทำงานของพระองค์ พระองค์จะชักหนึ่งในสิบของฝูงสัตว์ของพวกเจ้า และพวกเจ้าจะเป็นทาสของพระองค์ ในวันนั้นพวกเจ้าจะร้องทุกข์เพราะพระราชา ผู้ซึ่งพวกเจ้าเลือกให้ครองพวกเจ้า แต่พระยาห์เวห์จะไม่ทรงตอบพวกเจ้าในวันนั้น”
แต่ประชาชนปฏิเสธไม่เชื่อฟังซามูเอล พวกเขากล่าวว่า “เราไม่ยอม เราจะต้องมีพระราชาปกครองเรา… และพระยาห์เวห์ตรัสกับซามูเอลว่า “จงฟังพวกเขาเถิด และจงตั้งกษัตริย์องค์หนึ่งให้พวกเขา” แล้วซามูเอลจึงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า “ให้ทุกคนกลับไปยังเมืองของตน”
อย่างไรก็ดีพระเจ้าไม่ได้ชังในการที่ประชากรของพระองค์อยากมีกษัตริย์เป็นของตัวเอง (แม้ว่าพระองค์โดนปลดออกจากตำแหน่งกษัตริย์เอง) พระองค์ทรงให้กฎเพื่อป้องกันกษัตริย์ไม่ให้หลงระเริงกับอำนาจโดยมีข้อกฎหมายกำหนดไว้ เฉลยธรรมบัญญัติ 17:14–20
…อย่าให้เขามีภรรยามาก เพื่อจิตใจของเขาจะไม่หันเหไป และอย่าให้มีเงินมีทองเป็นของตนอย่างมากมาย “เมื่อเขานั่งบัลลังก์ในราชอาณาจักรก็ให้เขาคัดลอกธรรมบัญญัตินี้ไว้ในหนังสือเพื่อตนเองต่อหน้าพวกปุโรหิตคนเลวี ให้มันอยู่กับเขา และให้เขาอ่านตลอดชีวิตของตน เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ที่จะยำเกรงพระยาห์เวห์พระเจ้าของเขา โดยรักษาถ้อยคำทั้งสิ้นในธรรมบัญญัตินี้ และกฎเกณฑ์เหล่านี้และทำตาม เพื่อว่าจิตใจของเขาจะไม่ได้ยกขึ้นสูงกว่าพี่น้องของตน และเพื่อเขาเองจะไม่หันเหจากพระบัญญัติไปทางขวาหรือทางซ้าย เพื่อเขาจะได้ปกครองราชอาณาจักรของเขาอยู่ได้นาน ทั้งตนเองและลูกหลานของตนในอิสราเอล”
ภายใต้กฎเกณฑ์ของพระเจ้า ยังคงหลักการของความเท่าเทียมกันระหว่างกษัตริย์และประชาชน ภายใต้ธรรมบัญญัติของพระเจ้านั้น คงความเป็นคนเท่ากันสำหรับประชากรของพระองค์ กษัตริย์หรือแม้กระทั้งใครที่กล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้า มิได้มีอำนาจสูงส่งไปกว่าพี่น้องของตน หากแต่เพียงสิ่งที่ต้องเรียนรู้คือการยำเกรงพระยาห์เวห์พระเจ้าสูงสุด และรักษาถ้อยคำซึ่งคือหัวใจของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเขาจะได้ปกครอง(ภายใต้ความคิดแบบเดียวกับพระเจ้าเพราะธรรมบัญญัติ กฎหมาย)ได้อย่างยาวนาน
แน่นอน อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนต้องเคยได้ยินคำสอนเกี่ยวกับ จงน้อบนอบต่อผู้ปกครอง หรือแม้กระทั้งบางคนอาจจะแย้งผมในใจ โดยใช้ โรมบทที่ 13 ที่ว่าด้วยการเชื่อฟังผู้ปกครอง อย่างไรก็ดีก็อยากจะตั้งคำถามไปว่า ถ้าหากผู้ปกครองเป็นคนที่ละเมิดสิทธิ์ กดขี่และไล่จับประชาชนอย่างอยุติธรรม เรา(และคริสเตียน)ควรทำอย่างไร ความสมดุลอยู่ที่ไหน เรา(และคริสเตียน)ไม่สามารถเงียบและอยู่เฉย ๆ ได้ นักวิชาการพระคัมภีร์ชื่อดัง Tom Right ได้เขียนไว้ว่า
the early church confess Jesus is Lord was intentionally directed against the worship of Caesar, who in Romans 13 is radically downgraded to the status of a mere servant of God.[1]
ซึ่งหมายความว่าคริสตจักรยุคแรกยอมรับว่าพระเยซูคือพระเจ้านั้นก็คือการต่อต้านลัทธิบูชาตัวจักรพรรดิอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุดแล้ว เพราะว่า ซีซาร์ไม่ใช่พระเจ้าแต่เป็นเพียงมนุษย์เฉกเช่นเราทุกคนและเป็นเพียงผู้รับใช้ที่พระเจ้าแต่งตั้งขึ้นมาเท่านั้น และถ้าเราพิจารณาจากสิ่งที่ผมได้กล่าวเกี่ยวกับการปกครองไปแล้วในเฉลยธรรมบัญญัติ คือ การปกครองที่มีหัวใจแบบเดียวกับพระเจ้า และคงไว้ซึ่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี เสรีภาพ มโนธรรม ดังนั้นความคิดที่แตกต่างเป็นสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้
ผมไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกประการถึงแม้ว่า ใครบางคนอาจจะเชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรงหรือสงคราม การนองเลือด หรือ หลักคิดที่ว่า the end justify the means ผมอยากจะชักชวนเราให้หันมาพูดคุยกันได้ในเรื่องนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมคริสเตียน ที่เชื่อในมนุษย์เราทุกคนเป็นพระฉายาของพระเจ้า) ผมไม่ได้หัวรุนแรงในเรื่องนี้เลยเพียงแต่ต้องการให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ ดังนั้นผมไม่ได้บอกให้เราเลือกฝั่งแต่ให้มองด้วยมุมมองจากพระคัมภีร์ที่ว่าด้วยการปกครองแล้วนำมาพิจารณากับนโยบายของรัฐ ของพรรคการเมือง และกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา
คริสตจักรไทยควรประกาศและสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ไม่ใช่เพียงแต่ความอนิจจังและความบาป ชีวิตมนุษย์เป็นหนึ่งในสิ่งที่พระเจ้าให้คุณค่ามากที่สุด
ผมมีตัวอย่างของการเห็นด้วยและจำยอมต่อการปกครองที่อยุติธรรม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ฮิตเลอร์มีอำนาจสูงสุดและสั่งให้ชาวเยอรมันฆ่าคนอื่น ๆ คริสตจักรเยอรมันตอบสนองอย่างไร คริสตจักรเยอรมันยอมรับในความเป็นชาตินิยมนั้นและสังคมอุดมคติแบบนาซี ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว (the Holocaust)[2]
ดังนั้นการสอนที่ยึดโยงตัวบุคคลหรือลดทอนความเท่าเทียมของมนุษย์นั้นส่วนใหญ่มักจะส่งผลร้ายไปจนถึงชีวิตของผู้อื่น ผมไม่ได้จะลดทอนอำนาจของผู้นำแต่เราต้องเฝ้าดูและตั้งคำถามในการใช้อำนาจเหล่านั้น อย่าลืมว่า พระเจ้าทรงให้ธรรมบัญญัติและกฎเกณฑ์เพื่อให้พวกเขาปกครองแบบเดียวกับที่พระเจ้าทรงปกครอง ขนาดพระคัมภีร์ยังให้เราพิสูจน์ทุกวิญญาณดังนั้นผู้ปกครองเราก็สามารถพิสูจน์และเฝ้าดูได้ด้วยเช่นเดียวกัน พระเจ้าทรงสร้างและมองดูมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นผู้รับใช้ของพระองค์และได้รับพรเพื่อรับใช้ซึ่งกันและกัน (1 โครินธ์ 4: 1, 1เปโตร 4:10)
ขอส่งท้ายด้วย “แม้ข้าพเจ้าจะเผยพระวจนะได้ จะรู้ความล้ำลึกทุกอย่างและมีความรู้ทั้งสิ้น และแม้จะมีความเชื่อมากยิ่งที่จะย้ายภูเขาไปได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีค่าอะไรเลย” ขอความรักเอาชนะความเกลียดชังและนำมาซึ่งกันพูดและแลกเปลี่ยนกัน
แหล่งอ้างอิง
[1] Nick Spencer and Jonathan Chaplin, God and Government (London: SPCK, 2009), 40., 219.
[2] the United States Holocaust Memorial Museum, “THE GERMAN CHURCHES AND THE NAZI STATE,” Historical content, The United States Holocaust Memorial Museum (blog), accessed May 3, 2019, https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/the-german-churches-and-the-nazi-state
Bibliography
อ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ
- Nick Spencer and Jonathan Chaplin - God and Government (ชอบที่สุด)
- David C. Jones - Biblical Christian Ethics
- Nigel Oakley - Engaging Politics?
- Mcquilkin - An Introduction to Biblical Ethics
- Gill, David W. - Doing Right
- Koyzis, David T. - Political Visions & Illusions: A Survey & Christian Critique of Contemporary Ideologies
- Smith, James K.A. - The Politics of Discipleship: Becoming Postmaterial Citizens (The Church and Postmodern Culture)
- Hollinger, Dennis P. - Choosing The Good: Christian Ethics in a Complex World.