Social Justice VS Biblical Justice
“ความชอบธรรมและความยุติธรรมเป็นรากฐานแห่งบัลลังก์ของพระองค์ ความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์เดินนำหน้าพระองค์” - สดุดี 89:14
เชื่อว่าหลายๆ คนเริ่มตระหนักถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ภาพของการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีอำนาจ ผู้มีธุรกิจในการผูกขาดสินค้า ผู้ที่เชื่อมนุษย์ทุกคนเท่ากันแต่จะมีใครสักคนเท่ากันมากกว่าเสมอ ภาพของการจัดสรรวัคซีน ภาพของการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลว ภาพของการบริหารภาษีที่คดโกง ภาพของคำตัดสินที่ดูค้านสายตา สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า อะไรคือความยุติธรรม ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมคริสเตียนที่มีการตื่นรู้ในเรื่องความยุติธรรมมากขึ้น และเกิดการตั้งคำถามกับการเทศนาที่ดูเหมือนว่าจะไม่แตะในเรื่องราวที่อ่อนไหวของสังคม ท่าทีของคริสตจักรและองค์กรบริหารคริสตจักรต่างๆ ว่า พวกเขาจะตอบสนองอย่างไรท่ามกลางความวุ่นวายทางสังคม ความสิ้นหวังทางร่างกายและจิตใจ ความเดือดดานต่อความอยุติธรรม ทำให้คริสเตียนหลายคนเกิดความสับสนและความรุ่มร้อนในจิตใจว่า พระเจ้าผู้ทรงยุติธรรม นั่นหมายความว่าอย่างไรกัน พระองค์เป็นเพียงแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ หรือ เป็นพระเจ้าที่ทรงยุติธรรมจริงๆ และด้วยกระแสความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ที่ถูกกระพือให้คนในสังคมได้ตื่นรู้จากความไม่รู้ทางด้านปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมเป็นเวลานาน สิ่งนี้ยิ่งทำให้คริสเตียนหลายๆ คนเริ่มมีส่วนในการ call out และอุทิศตัวเองเข้าสู่การต่อสู้เชิง Social Justice มากขึ้น สิ่งนี้เองจึงทำให้ผมนั้นแอบคิดว่า ระหว่าง ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) กับ ความยุติธรรมในพระคัมภีร์ (Biblical Justice) นั้น มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร การเป็นคริสเตียนที่ Call out นั้นเท่ากับการพูดเรื่องความยุติธรรมตามนิยามของพระคัมภีร์หรือไม่ และในเมื่อพระเจ้าทรงเป็นความยุติธรรม ความยุติธรรมที่เป็นพระลักษณะของพระเจ้านั้นหน้าตาอย่างไร และจะถูกแสดงออกมาในรูปแบบไหน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรม หัวใจในการแสดงออก และเป้าหมายในการเรียกร้อง เพื่อที่เราจะไม่ตกกับดักอารมณ์ กับดักกระแสสังคม และกับดักการตามใจตัวเอง
เมื่อเราพูดถึงการค้ามนุษย์ การเหยียดทางชนชั้น การขโมยของคนยากไร้จากระบบที่กดทับ การกดขี่ชาวนา การปล่อยให้คนนอนตายข้างถนน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าการใช้กำลังหรือการฉ้อโกงเพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเป็นเรื่องเลวร้าย สิ่งนี้เองจึงทำให้เราหลายๆ คนแบกความรู้สึกที่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องได้รับการลงโทษและคนที่อ่อนแอต้องได้รับการช่วยเหลือ เราต้องการความยุติธรรม!
ตามนิยามของคำว่ายุติธรรมแบบง่ายๆ ที่สุด คือ การกำหนดสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง (ซึ่งอาจจะเข้าอยู่ในหลักอรรถประโยชน์สูงสุด ความสุขสูงสุด อิสรนิยม เสรีภาพ ศีลธรรม เจตนา)[1] แต่อย่างไรก็ดี เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรถูก ใครเป็นคนกำหนดคำว่า “ถูกต้อง” จะเป็นสังคมหรือวัฒนธรรมที่เราอยู่เป็นคนกำหนดหรือไม่ หลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ หรือจะเป็นกฎมโนธรรมที่เราตระหนักได้จากจิตใจ
Biblical Justice: ความยุติธรรมตามแบบอย่างพระคัมภีร์
ในฐานะที่เป็นคริสเตียน ความยุติธรรมนั้นไม่ซับซ้อน กล่าวคือ พระเจ้าทรงสร้างเราให้มีมโนธรรมสำนึกในความยุติธรรมแก่มนุษย์ซึ่งพระคัมภีร์หลายๆ ตอนก็พูดถึงเรื่องนี้ และอ้างอิงจากพระลักษณะของพระเจ้านั้นคือ ความรัก ความเมตตา ความชอบธรรม ความบริสุทธิ์ และความยุติธรรม
“พระศิลา พระราชกิจของพระองค์ก็สมบูรณ์ พระมรรคาทั้งสิ้นของพระองค์ก็ยุติธรร พระเจ้าผู้ทรงเที่ยงธรรมและปราศจากความอธรรม — เฉลยธรรมบัญญัติ 32:4
ความชอบธรรมและความยุติธรรมเป็นรากฐานแห่งบัลลังก์ของพระองค์ ความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์เดินนำหน้าพระองค์ — สดุดี 89:14
จากตัวอย่างเพียงเล็กน้อยจากพระคัมภีร์เราเห็นได้ว่าพระเจ้านั้นทรงยุติธรรมและสิ่งนี้เป็นรากฐานของพระองค์ ดังนั้นพระเจ้าทรงยุติธรรมเสมอ และพระองค์ไม่สามารถที่จะไม่ยุติธรรม พระองค์ทรงให้ความหมายและกำหนดมาตรฐานให้กับคำว่า “ยุติธรรม”
หลายครั้งเรามักจะได้ยินว่าพระเจ้านั้นเป็นความรัก พระเจ้าทรงบริสุทธิ์ มากกว่าที่เราจะได้ยินว่าพระเจ้านั้นทรงยุติธรรม และหลายๆ ครั้งเองการเห็นด้วยและยอมรับทันทีกับการที่พระเจ้าทรงกำหนดมาตรฐานสำหรับความรักและความบริสุทธิ์ แต่อย่างไรก็ดีเราไม่สามารถลืมไปว่าพระเจ้านั้นทรงกำหนดมาตรฐานสำหรับความยุติธรรมด้วย ดังนั้นแล้ว การตามหาความหมายของคำว่ายุติธรรมนั้นต้องสำรวจและสอดคล้องตามที่พระคัมภีร์ได้นำเสนอให้กับเรา และสิ่งนี้คือการติดตามวิถีของพระเจ้าเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง และสิ่งที่กำหนดความถูกต้องก็คือพระคัมภีร์นั้นเอง
แน่นอนว่าในพระคัมภีร์มีพระธรรมหลายบทหลายข้อที่พูดถึงเรื่องความยุติธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาอธิบายยืดยาว ผมเลยอยากให้เรามาสำรวจชีวิตของพระเยซู ซึ่งเป็นการควบรวมคำสอนเรื่องความยุติธรรมผ่านชีวิตของพระองค์ เมื่อพิจารณาถึงชีวิตของพระองค์ เราก็เห็นได้ว่าพระองค์ทรงดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ ปราศจากบาป และทรงตายเพื่อเป็นการไถ่ต่อความยุติธรรมซึ่งเป็นพระลักษณะของพระบิดาและของตัวพระองค์เอง และโดยการสูญเสียชีวิตผ่านการตายเพราะความยุติธรรมของพระองค์นั้น เรายังมีความหวังในการทรงฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง ไม้กางเขนจึงเป็นทั้งตัวแทนและสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรมของพระองค์ ในขณะเดียวกันไม้กางเขนก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความอยุติธรรมที่พระองค์นั้นทรงได้รับเพื่อที่เราทุกคนสามารถเข้าสู่ความชอบธรรมและเข้าสู่กระบวนการความยุติธรรมของพระองค์ ไม่ใช่แค่เพียงโลกฝ่ายจิตวิญญาณ เรายังเห็นว่า พระเยซูยังแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่สวยงามให้กับเราในฐานะผู้ดูแลคนที่อ่อนแอ คนที่ยากไร้ คนที่เจ็บป่วย แม่ม่าย โสเภณี คนชายของ คนชั้นรองของสังคม พระองค์ทรงเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามมากที่สุด พระองค์ให้ความยุติธรรมและทรงช่วยชีวิตพวกเขาไม่ว่าจะทางร่างกายและจิตวิญญาณ ตัวอย่างบางส่วน เช่น การรักษาคนโรคเรื้อนในมัทธิว 8:1–4 การรักษาคนผีเข้า ลูกา 8:26–39 การให้โอกาสหญิงที่ถูกจับได้ว่าล่วงประเวณีในยอห์น 8:1–11 เป็นต้น
จากชีวิตของพระเยซูมาจนถึงคริสเตียนสาวกของพระองค์ พระเยซูทรงเรียกสาวกของพระองค์ให้ทำความยุติธรรม ซึ่งคริสเตียนถูกบัญชาให้ลงมือทำและเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม ดูแลและส่งเสียงให้กับผู้ที่อ่อนแอ (Vulnerable) คนที่ไร้เสียงในสังคม คนที่ถูกสังคมทอดทิ้ง คนที่ถูกบีบบังคับ คนที่ถูกปล่อยให้ตายข้างถนน และทำให้สิ่งที่ผิดกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของพระคัมภีร์ สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่กระแสสังคมหรือกระแสวัฒนธรรม เพราะพระคัมภีร์ไม่ว่าจะพันธสัญญาเดิมหรือใหม่ได้เรียกร้องเราให้ลงมือทำเพื่อความยุติธรรมนั้นชัดเจน (สดุดี 82:3–4, อิสยาห์ 1:17, มีคาห์ 6:8, ลูกา 11:42)
SOCIAL JUSTICE: ความยุติธรรมทางสังคม
เรามาพิจารณาในฟากของความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ซึ่งเชื่อว่าคำๆ นี้กำลังได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายจนมาถึงในสังคมคริสเตียนด้วยเช่นเดียวกัน ผมลองค้นหาความหมายโดยสังเขปก็พบว่ามีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณผ่านยุคกลางที่ได้รับอิทธิพลจากคริสเตียนจนเข้ามาสู่สังคมร่วมสมัยในศตวรรษปัจจุบัน
ความยุติธรรมทางสัมคมมีความหมายที่หลากหลาย โดยผมสรุปคร่าวๆ ได้ว่า “ความยุติธรรมทางสังคมคือการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม ไม่ว่าจะความเป็นอยู่ ความมั่งคั่ง โอกาส และสิทธิ โดยการท้าทายกับความอยุติธรรมและการให้ค่ากับความหลากหลาย เชื้อชาติ เพศ ภาษา ความเท่าเทียมในสังคม” [2][3] ซึ่งพอเรามองให้ลึกลงไป สิ่งนี้ยังมีความคลุมเคลือและสามารถไปสู่ข้อสรุปที่แตกต่างกันอย่างมากมายภายใต้คำว่ายุติธรรม
ความยุติธรรมทางสังคมหลายๆ ครั้งมักมุ่งเน้นไปการแก้ไขที่ระบบที่บิดเบี้ยว ระบบที่เอื้อให้แก่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง ระบบที่สร้างความอยุติธรรมขึ้นมาอีกที โดยเข้าใจไปว่าการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างจะสามารถขจัดและจัดการกับความอยุติธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องเพศ ที่บางครั้งอาจจะกลายเป็นสนับสนุนเพศใดเพศหนึ่งอย่างสุดโต่ง การแก้ไขปัญหาทางชาติพันธ์ที่สุดท้ายอาจจะกลายเป็นการคุกคามชาติพันธ์ใดมากกว่าอีกชาติพันธ์หนึ่ง เช่น BLM ที่กำลังเกิดขึ้นที่อเมริกา แน่นอนว่า การเรียกร้องเพื่อคนดำนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่เมื่อก้าวข้ามและเพิ่มความรุนแรงจนกลายเป็นว่าหากไม่สนับสนุน BLM กลายเป็นคนที่ไม่มีความยุติธรรม สิ่งนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ และมีอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หลายๆ ครั้ง นักกิจกรรมทางด้านความยุติธรรมทางสังคมก็เน้นและให้ความสำคัญกับ คนที่ไม่มีมากกว่าคนที่มี คนจนมากกว่าคนรวย ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย LGBT มากกว่า Straight คนดำมากกว่าคนขาว และอีกมากมายที่นักกิจกรรมทางด้านความยุติธรรมทางสังคมอยากจะนิยาม
เมื่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างตามที่ได้กล่าวมาหลายๆ ครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยพยายามมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาทางการเมือง ดังนั้นสิ่งนี้ยิ่งต้องมีความเข้าใจทางด้านอุดมคติทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การพูดคุยและแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะมองการแก้ไขปัญหาในมุมมองของ Social Democracy, Liberal Democracy, Market Democracy และอีกมากมาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีและควรค่าแก่การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้การกดทับ การกดขี่จากระบบของสังคม ปัญหาความยากจน การไร้โอกาสและสิทธิ์ที่พึงได้รับ
เมื่อเราพิจารณาคำว่ายุติธรรมภายใต้กรอบของพระคัมภีร์นั้น พระคัมภีร์เริ่มต้นด้วยความโลกทัศน์ที่เป็นนิรันดร์ และมองมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่มนุษย์ตามอย่างที่โลกทัศน์ของมนุษยนิยมกำลังแทรกแซงเข้ามาในสังคมคริสเตียน แต่มองมนุษย์ให้เป็นพระฉายาของพระเจ้า อีกทั้งในมุมมองของความยุติธรรมในพระคัมภีร์นี้ไม่มีความลำเอียงไม่ว่าจะคนจะเป็นคนจนหรือคนรวย โดยหลักการก็คือตัดสินทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (อพย.23:1–9, เลวีนิติ 19:15) และนี่เป็นหน้าที่ของคริสเตียนที่จะต้องแสวงหาเสรีภาพ การปลดแอก และการปลดปล่อยทางร่างกายและทางจิตวิญญาณให้กับผู้ที่กดขี่ ผู้ที่ถูกกดทับ ผู้ที่ไร้เสียงในการกล่าวร้องต่อพระเจ้า เพื่อความยุติธรรมของพระเจ้าจะสามารถเติมเต็มและบริบูรณ์ได้ในชีวิตของพวกเขา และพวกเขาจะสามารถถูกสร้างใหม่ได้ และในฐานะชุมชนของพระเจ้า เราสามารถมีส่วนร่วมกับผู้คนที่ทำงานเพื่อความยุติธรรมทางสังคมได้ แต่เราต้องไม่สับสนหรือตกกับดักของความเป็นอยู่ที่ดีของคนกลุ่มๆ หนึ่งจนไม่ทำเป้าหมายสูงสุดที่พระเจ้าทรงบัญชาให้กับเราในการเรียกร้องความยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งเป้าหมายสูงสุดผ่านการสำแดงโดยพระคัมภีร์นั้นก็คือการเห็นชีวิตผู้คนที่คืนดีกับพระเจ้าและเปลี่ยนแปลงให้การเป็นมนุษย์ในกรอบพระฉายาของพระเจ้าจนกว่าร่างกายใหม่ แผ่นดินใหม่ สังคมใหม่จะมาในวันที่พระเยซูเสด็จกลับมาอีกรอบ
สิ่งที่ควรค่าแก่การทบทวน
ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในตัวเราเอง
“They see Christianity as oppressive to a person. In reality Christianity is very oppressive to the flesh — Mike Winger”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างมาจากการที่มนุษย์ปฏิเสธพระเจ้าในฐานะเจ้านายและพระผู้ช่วยให้รอด และพยายามหาทางทำให้ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ (Justify) (โรม 1:21–25; 9:32) หนึ่งในวิธีการที่จะหาความชอบธรรมให้กับตัวเองได้ก็คือการ “ดูถูก” คนที่แตกต่างจากเรา (ลูกา 18 :9–14) และในสังคมไทยเรามักจะเห็นสิ่งนี้ได้จากความแตกต่างทางการเมือง ความแตกต่างทางภูมิลำเนาและความแตกต่างกันทางรายได้และการถือครองสินทรัพย์ (ในขณะที่หลายๆ คนเรียกสิ่งนี้ว่า “ชนชั้น”) และเมื่อกลุ่มคนแต่ละกลุ่มคนต่างพยายามสร้างคุณค่ากันในกลุ่มของตัวเอง ผลที่ได้รับคือ “ความเกลียดชัง” ระหว่างผู้ที่มีความแตกต่างกันทางกรอบความคิดทางการเมือง ความแตกต่างทางภูมิลำเนาและความแตกต่างกันทางสิ่งที่ถือครอง สิ่งนี้เป็นธรรมชาติบาปที่ฝังรากลึกในมนุษย์ แม้แต่ตัวเปโตรอัครสาวกของพระเยซูที่ได้รับการเปิดเผยในกิจการ 10–11 แล้วก็ตกกับดักความแตกต่างอันนี้ (กาลาเทีย 2:11–14) ดังนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้กำลังสร้างความกำแพงแห่งความเกลียดชัง สร้างความไม่อดทนอดกลั้นในความอดทนอดกลั้นของเสรีนิยม สร้างความไม่หลากหลายในความหลากหลายทางความเชื่อ ความคิด และอุดมการณ์ ถ้าความเย่อหยิ่งทางตัวตนและความรู้สึกตัวเองมีความชอบธรรม มีสิทธิ์นั้นฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ ผมว่าเราควรจะหันกลับมาที่จัดการปัญหาเชิงโครงสร้างภายในตัวเราเองเพื่อที่เราจะคาดหวังและสร้างโครงสร้างที่สมบูรณ์ตามน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ยั่งยืนและมั่นคงกว่า และเมื่อเรามีความเข้าใจเรื่องโครงสร้างของความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องตามที่พระเจ้าได้ทรงสร้างเราให้เป็นพระฉายาของพระเจ้านั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมก็จะมีการกล่าวถึงที่มากขึ้นและจะตามมาซึ่งการแก้ไขให้เกิดความยุติธรรมตามที่พระคัมภีร์ได้แนะนำมานั่นเอง
ความรับผิดชอบกับความซับซ้อน
นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมของเรามีแนวโน้มที่จะมองโลกในด้านเดียวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมที่จะหาสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งในโลกทัศน์ที่ตัวเองเชื่อมั่นมาตอบคำถาม เช่น คำถามเดียวกัน “ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นได้อย่างไร?” ฝ่ายซ้ายเสรีนิยมเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันมักเกิดจากความอยุติธรรม ในขณะที่ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันนั้นแทบจะเกิดจากการขาดความรับผิดชอบส่วนบุคคล
แต่สิ่งเหล่านี้คือนิยามที่สังคมให้มากกว่าที่ผ่านจากมุมมองของพระคัมภีร์ โดยสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์นั้นผมอยากนำเสนอให้เห็นว่าพระคัมภีร์ได้แสดงให้เห็นว่า ผลลัพธ์ชีวิตของคนนั้นเกิดจากปัจจัยที่ซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นที่ตัวบุคคลนั้นเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ความยากจนอาจเกิดจากความล้มเหลวของบุคคลและการกระทำผิด (สุภาษิต 6:6–7; 23:21) หรือความอยุติธรรมทางสังคมและโครงสร้างทางสังคม (สุภาษิต 13:23, 18:23; อพยพ 22:21–27) หรือปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย ดังนั้นเพราะความซับซ้อนนี้เองที่การสำแดงความรับผิดชอบของคริสเตียนต่อความยุติธรรมในมุมมองที่พระคัมภีร์กำลังนำเสนอ
เปลี่ยนแปลงอำนาจใหม่
สิ่งที่เราต้องพิจารณาต่อไปก็คือเมื่อเรากำลังสำแดงความรับผิดชอบ เรียกร้องและทำความยุติธรรมเรากำลังใช้อำนาจและสิทธิที่เรามีตามระบอบการเมืองที่ให้กับเรา ดังนั้นเราจะใช้อำนาจและสิทธิอย่างไรเพื่อไม่แสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดผู้อื่น ความยุติธรรมทางพระคัมภีร์โดยข่าวประเสริฐ (Biblical Justice) สำแดงให้เราเห็นว่าพระเยซูทรงมีสิทธิอำนาจเหนือเราอย่างแท้จริง แต่พระองค์ทรงใช้สิทธิอำนาจนี้เพื่อรับใช้ผู้คนทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา และพวกเราทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อช่วยเราให้รอด ดังนั้นคริสเตียนมีพระคัมภีร์ซึ่งเป็นแหล่งปัญญาของพระเจ้าและสิทธิอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้าจำเป็นต้องเรียนรู้จะพระคัมภีร์และตัวพระเยซูเองเพื่อที่จะไม่แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเราเอง พวกของเรา หรือกลุ่มคนที่เชื่อเหมือนเรา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยากเพราะอำนาจเป็นสิ่งที่หอมหวาน แต่คริสเตียนต้องไม่หยุดที่จะต่อสู้และดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจที่หอมหวานนี้และเดินตามรอยพระเยซูพระเจ้าของเรา
Call Out
ด้วยการตื่นรู้ทางด้านสิทธิและอำนาจของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย ตอนนี้แทบจะหยุดกระแสสังคมไม่ได้แล้วกับการ Call Out เพื่อความยุติธรรมในสังคม สิ่งนี้เองก็กำลังเรียกร้องให้คริสตจักร องค์กรคริสเตียนและผู้มีอำนาจฝั่งคริสเตียนที่จะ Call Out กับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะเรื่องความอยุติธรรม การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การมีอยู่ของ VIP การแซงคิววัคซีน หรือพูดให้ง่ายก็คือ ปัญหาใต้พรมในสังคมที่ถูกทับถมกันมาเป็นเวลานาน สิ่งหนึ่งคริสเตียนเราน่าจะทบทวนคือการ Call Out ในมุมมองของคริสเตียนคืออะไร
แน่นอนว่าคริสเตียนเราควรที่จะพูดถึงปัญหาเชิงสังคม ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทุกๆ ปัญหาที่เรามองว่ามันเป็นปัญหา แต่การ Call Out ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคริสเตียนคืออะไร ก็คือการ Call Out ว่า สิ่งที่คริสเตียนเรากำลังต่อสู้ เราไม่ได้ต่อสู้กับปัญหาที่เป็นผลพวงของบาป แต่คริสเตียนเรากำลังต่อสู้กับปัญหาที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดนั้นคือ “ความบาป” ยิ่งในช่วงนี้เราเห็นโอกาสจากพื้นที่ของคริสตจักร เราเห็นโอกาสในการช่วยเหลือคนจากบริเวณโรงเรียนคริสเตียนที่ตอนนี้ (ปี2021) การเรียนการสอนถูกปรับเป็นออนไลน์หมด ทำไมเราถึงไม่ใช้พื้นที่เหล่านี้เพื่อผู้คนที่ขัดสนในสังคม คนไร้บ้าน คนป่วยที่นอนข้างถนน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งประเสริฐที่เราในฐานะคริสเตียนควรจะแบ่งปันและให้กับสังคม แต่ทั้งหมดทั้งมวล ถ้าหากไร้ซึ้งการสื่อสารข่าวประเสริฐออกไปก็เป็นเรื่องที่คริสเตียนก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการช่วยเหลือสังคม ผมไม่ได้สื่อสารว่าการสื่อสารข่าวประเสริฐคือการไปนั่งป่าวประกาศว่าแบบ Spiritual 4 Laws แต่เป็นการสื่อสารว่าทำไมเราถึงทำ ทำไมเราถึงช่วย ทำไมเราถึงมีความหวัง ทำไมเราถึงอยากส่งต่อการช่วยเหลือให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น ดังนั้นแล้ว การ Call Out ในความหมายที่ผมนั่งพิจารณา ไตร่ตรองมาสักพักใหญ่ว่าคริสเตียนเราควร Call Out เรื่องอะไร การ Call Out ของคริสเตียนในความคิดของผมคือตอบสนองอย่างที่สาวกยุคแรกได้ทำ พวกเขาช่วยเหลือคนทุกประเภท พวกเขาอ่านพระคัมภีร์และฟังคำสอนของอัครทูต พวกเขามีการสรรเสริญพระเจ้า พวกเขายอมรับสิทธิอำนาจจากพระเจ้า และนี่คือผลของการ Call Out และทำตามพระมหาบัญชาที่เห็นภาพที่สุดในประวิติศาสตร์คริสเตียน เปโตรพูดเรื่องพระเยซู (ซึ่งรวมเรื่องการช่วยเหลือคนทั้งทางร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และทรงตายด้วยความอยุติธรรมเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมที่แท้จริง) มีคนกลับใจ 3,000 คน และกลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำให้ภาพที่พวกเราหลายคนปรารถนาที่เห็นเกิดขึ้นในกิจการ 4:33-34 “…ด้วยฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่บรรดาอัครทูตก็เป็นพยานถึงการคืนพระชนม์ของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า…ในพวกเขาไม่มีใครขัดสน (Needy)…” การช่วยเหลือผู้คนเป็นสิ่งควรค่าที่คริสเตียนทุกคนควรทำ แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าเราเข้าใจแรงจูงใจของเราและส่งต่อให้ด้วยหัวใจอย่างองค์พระเยซูคริสต์
กลับมาสู่จุดเริ่มต้น
การแสวงหาความยุติธรรมเริ่มต้นและดำเนินด้วยรากฐานของการอธิษฐาน ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ในหน้า Feed Facebook จะมีการลดความสำคัญของการอธิษฐานมากขึ้น พยายาม Deconstruction ภาพของการอธิษฐานเป็นเพียงพิธีกรรมทางศาสนา แต่อย่างไรก็ดี ภาพความยุติธรรมในพระคัมภีร์และตัวพระเยซูเองมีหลายครั้งมากมายที่เริ่มต้นและให้ความสำคัญกับการอธิษฐานมากๆ เพราะว่านี่เป็นการต่อสู้ของพระเจ้า ไม่ใช่การต่อสู้ของเรา สิ่งที่คริสเตียนเรากำลังต่อสู้ไม่ใช่แค่เรื่องภายร่างกายแต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณ เป็นเรื่องตัวตน เป็นความเรื่องความบาป และทั้งหมดทั้งมวลเรียกร้องให้เราก้าวออกจากพื้นที่ที่เรารู้สึกสบาย (Comfort Zone) และแสวงหาความยุติธรรมด้วยความอดทน มีปัญญา ไม่ตื่นตูมและโง่เขลา คริสเตียนเชื่อว่าพระเจ้าผู้ทรงยุติธรรมทรงนำหน้าเราและทรงทำงานผ่านตัวเรา ผ่านการทรงเรียกในหน้าที่การงานของเรา แน่นอนว่าเราจะเจอกับความอยุติธรรม เราจะเจอกับการกีดกันจากระบบที่อยุติธรรมในสังคม เราจะโกรธ เราจะโมโห เราจะรู้สึกทนไม่ได้ เราอยากร้องไห้ เราหน่วง เราเจ็บ แต่เราคริสเตียนเชื่อว่าพระองค์ทรงประทานกำลัง สติปัญญา ผลพระวิญญาณเพื่อต่อสู้และนำมาซึ่งความยุติธรรมแบบพระคัมภีร์แน่นอน
แหล่งอ้างอิง
[1] Michael J. Sandel, Justice: What’s The Right Thing To Do? (Bangkok: Openworlds, 2017), 36–38
[2] สุจินตนา ภาวสิทธิ์, “แบบกระบวนการเสริมสร้างและการปรับใช้ความเป็นธรรมทางสังคม: กรณีศึกษาชุมชนภาคกลาง” PhD thesis, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2012, 15–27
[3] “Definition of Social Justice”. Oxford University Press. Lexico.com. 25 July 2021. https://www.lexico.com/en/definition/social_justice
ศึกษาต่อ
https://www.youtube.com/watch?v=yBX- 9eUtwzUhttps://quarterly.gospelinlife.com/justice-in-the-bible/
https://bibleproject.com/learn/justice
https://www.the101.world/social-democracy-norway-sweden/
https://www.encyclopedia.com/international/legal-and-political-magazines/liberal-democracy
http://www.quebecoislibre.org/younkins16.htm
Michael J. Sandel, Justice: What’s The Right Thing To Do? (Bangkok: Openworlds, 2017) ซื้อได้ที่ http://salt.co.th/justice/
ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ว่าด้วยไม่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Bangkok: สมมติ, 2009) ซื้อได้ที่ https://www.sm-thaipublishing.com/product/23056-18852/on-multiculturalism