คริสเตียนและฆราวาสนิยม

Arm Denkittikhun
3 min readMay 20, 2023

--

https://www.epw.in/system/files/Secularism.png

หลังจากที่กลับจากการศึกษาพระคัมภีร์ที่สิงคโปร์ในปี 2020 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นที่ฮ่องกง พม่า หรือที่ประเทศไทยเอง และการมาของโควิดที่กักขังอิสรภาพของมนุษย์ให้อยู่ในความกลัว ส่งผลให้ ความคิด โลกทัศน์ วัฒนธรรม หลักการ เหตุผลต่าง ๆ ได้ถูกทุบให้แหลก (Deconstruction) และตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ มโนธรรม ศีลธรรม ที่ดูเหมือนว่าสังคมและสื่อรอบข้างจะคอยประโคมให้เห็นว่าทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ปัจเจกและไม่มีสิ่งไหนนั้นถือว่า “ดี” เพราะคำว่า “ดี” นั้นถูกนิยามผ่านสายตาของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ผู้คนเริ่มถอยห่างจากการนิยามคำว่า “ดี” ภายใต้กรอบของศาสนา กรอบของวัฒนธรรมและประเพณี และเข้าสู่การโอบรับการนิยามสิ่งต่าง ๆ ภายใต้กรอบของคำว่า “ฆราวาสนิยม” (Secularism) ซึ่งก็ผ่านการเติบโตหลังจากยุคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเดินทางโดยสังคมผ่านมุมมองที่หลากหลายของสังคม เช่น เสรีนิยม vs สังคมนิยม, Modernism vs Post-modernism, ประชาธิปไตย vs คอมมิวนิสต์, สลิ่ม vs แดง, แดง vs ติ่งส้ม และในอนาคตอีกมากมาย ที่เดินทางออกจากโลกทัศน์ของศาสนามาสู่โลกทัศน์ของฆราวาส

โลกของฆราวาสนิยมคืออะไร

โลกของฆราวาสคือ โลกของปัจเจกที่ไม่ขึ้นตรงกับใคร ซึ่งไม่ได้ผูกมัดตัวเองกับศาสนาหรือพระเจ้า ซึ่งในเมื่อสังคมได้กลายเป็นสังคมฆราวาสแล้วนั้น โลกทัศน์และศีลธรรมนั้นจะยึดโยงจากอะไร ผมเคยถามอาจารย์สอนปรัชญา ในรายการ 101 One-On-One Ep.96 | “ศาสนากับสังคมไทยสมัยใหม่” https://youtu.be/r-5GIZx436k?t=4065 นาทีที่ 1.07.45 ว่าระบบศีลธรรมของสังคมฆราวาสมาจากอะไร อาจารย์ตอบว่า

ศีลธรรมที่ยึดโยงกับคุณค่าร่วมสมัย + ประชาธิปไตยที่เข้าใจกันโดยพื้นฐานทั่วไป

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำว่าคุณค่าร่วมสมัยแล้ว สิ่งที่เป็นสิ่งที่ร่วมสมัยในปัจจุบันก็คือโลกและสังคมที่ลอยตัวจากคุณค่าและระบบศีลธรรมของศาสนา ผมจึงอยากจะใช้

https://www.fathombookspace.co/product/34886-28603/intro-atheism

หนังสือ อเทวนิยม ฉบับกระชับ จาก ‘Atheism a very short introduction’ / Julian Baggini มาเพื่อสร้างกรอบที่เราจะมาดูด้วยกันว่า ระบบโลกทัศน์ มโนธรรมและศีลธรรมของฆราวาสนิยมนั้นสามารถยึดโยงกับอะไรได้บ้าง

บทที่ 1 พยายามอธิบายและเชื่อว่า Atheist เป็นคนที่มองโลกผ่านความเป็นจริงและมองโลกในแง่บวก ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปถึงความสุขได้โดยเฉพาะผ่านสิ่งที่เอื้อมถึงได้

บทที่ 3 เสนอว่า Atheist มีแนวโน้มในการอยู่ศีลธรรมอันดีมากกว่า Theist เพราะเชื่อว่าศีลธรรมไม่ยึดโยงไปที่พระเจ้า ศีลธรรมนั้นไม่สามารถมีใครมากำหนดได้ เพราะศีลธรรมอยู่ใหญ่กว่ากฎทางศีลธรรม ซึ่งในข้อนี้ ในขณะที่หนังสือพยายามโต้แย้งว่า เราไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้ามาเป็นผู้ออกกฎเพราะว่า กฎที่พระเจ้าออกก็จำเป็นต้องอยู่ในศีลธรรมอยู่แล้ว ดังนั้นแล้ว พระเจ้าจึงไม่จำเป็นต่อระบบศีลธรรม ผู้เขียนเสริมต่อว่า หากความดีคือสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ ถ้าพระเจ้าทรงซาดิสต์ ดังนั้นสิ่งนี่คือสิ่งที่ดีอย่างนั่นหรือ

หน้า 101–107 พูดสรุปว่ามนุษย์เราเลือก ที่จะทำตามศีลธรรมนั้นๆ ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้ทำตามกฎแห่งสวรรค์

หน้า 113–118 พยายามพูดว่า ความเจ็บปวดคือสิ่งที่ไม่ดี และผู้เขียนก็โต้เองว่าอาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องยืนยันในศีลธรรมอันนี้ และรอให้ศีลธรรมหรือคุณค่านี้เป็นที่ยอมรับในคนหมู่มาก

ดังนั้นขอสรุปโดยสังเขปว่า ศีลธรรมของแนวคิดของฆราวาสนิยมผ่านหนังสือเล่มนี่จากหน้า 104 “ผมเชื่อว่ารากฐานที่สุดของศีลธรรมคือ ความเข้าอกเข้าใจหรือเอาใจใส่ต่อสวัสดิภาพของผู้อื่น เป็นการระลึกว่าสวัสดิภาพของผู้อื่นมีความสำคัญเช่นกัน…นี่คือสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ ความไม่ใยดีต่อสวัสดิภาพของผู้อื่นเลยไม่ใช่พฤติกรรมปกติของมนุษย์….เป็นอาการป่วยทางจิต”

อาจจะเป็นข้อสรุปที่ตื้นเขินในทางวิชาการแต่ถ้าจะให้คุยกันแค่ในวงที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ผมก็ว่าอันนี้คือข้อสรุปง่าย ๆ ที่ว่าด้วย “ฆราวาสนิยม” นั้นมีระบบโลกทัศน์และศีลธรรมยึดโยงกับมนุษย์โดยปัจเจก และในขณะเดียวกันก็ยึดโยงกับมนุษย์แบบคนหมู่มากด้วย และต่างก็อ้างอิงซึ่งกันและกันผ่านการประโคมของสื่อและเสียงที่ดังกว่า

พิจารณา

กลับไปยังจุดที่สังคมได้ลองทุบ (Deconstruction) ความคิด โลกทัศน์ วัฒนธรรม หลักการ เหตุผลต่าง ๆ ของผู้คนในยุคสมัยที่ผ่านมา เพื่อไปสู่การก้าวหน้าทางสังคมที่กล่าวอ้างโดยคำว่า ยุติธรรมและเท่าเทียม (Progressivism) ผมเองก็ได้ลองนำตัวเองไปอยู่ในรองเท้าที่ได้ชื่อว่า “ก้าวหน้า” ทางความคิด สังคม และโลกทัศน์ ตัวอย่างที่เรามักจะเห็นกันคือคำว่า นี่คือปี 202x กันแล้ว เราควรจะ…ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ครอบครัว ความรัก การงาน การเมือง การศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งก็มักจะถูกยึดโยงกับอีกคำหนึ่งที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “สิทธิมนุษยชน” (Human Right)

สิ่งนี้เองได้เป็นจุดที่ผมได้ลองพิจารณาว่า ตกลงแล้วคริสเตียนเราอยู่ตรงไหนของสังคมในโลกสมัยนี้ การทุบแนวคิดศาสนศาสตร์เดิม ๆ ที่ผมได้ลองวิเคราะห์ วิจารณ์นั้น ก็ทำให้เห็นว่าไปช่วงปี 2019–2021 ของผมนั้น มีความเป็นคริสเตียนก้าวหน้า (Progressive Christianity) พอสมควร แต่อย่างไรก็ดีการทุบและโอบรับแนวคิดเหล่านี้เข้ามาก็มีคำถามหนึ่งที่เพื่อนผมได้ถามคือ ตกลงแล้วความก้าวหน้าและความยุติธรรมที่เรากำลังมองหานั้น ตรงกับสิ่งที่พระคัมภีร์ไบเบิ้ลสอนหรือไม่ พระเจ้าต้องการสิ่งเหล่านี้หรือไม่ พระเจ้าเห็นด้วยกับทุกความยุติธรรมในสังคมอย่างนั้นหรือ พระเจ้าที่ทรงเป็นความรักเท่ากับพระเจ้าที่ยอมรับในทุกตัวตน ทุกการกระทำ ทุกโลกทัศน์อย่างนั้นหรือ

สิ่งนี้เองก็ได้เป็นจุดที่ผมได้หยุดเพื่อสร้างความคิด โลกทัศน์ หลักการและเหตุผลในการเป็นคริสเตียนขึ้นมาใหม่ (Reconstruction) ผ่านสิ่งที่คริสเตียนไม่ว่าจะยุคไหนก็ตามยอมรับกัน (Historical Christianity) จนทำให้ผมได้เห็นว่า “ฆราวาสนิยม” นั้นส่งผลต่อคริสเตียนและคริสตจักรอย่างมาก ผมจึงอยากจะแบ่งปันในสิ่งที่ผมได้จากหนังสือ Faithfully Different: Regaining Biblical Clarity in a Secular Culture ของ Natasha Criane

Faithfully Different: Regaining Biblical Clarity in a Secular Culture

4 เสาหลักของฆราวาสนิยม

ผ่านหน้าประวัติศาสตร์ ส่งผลให้คนในยุคนนี้ต้องการอิสระจากสิ่งต่าง ๆ และวัฒนธรรมฆราวาสนี้เองได้โอบอุ้มและเต็มใจที่ประโคมสิ่งที่คนในสังคมหมู่มากต้องการได้ยิน ถึงแม้ว่าข้อความหรือสิ่งเหล่านี้จะมีรูปแบบที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมฆราวาสเองก็มีความไหล่ลื่น (Fluid) ในทุกเรื่องที่สังคมพร้อมจะสิ่งเหล่านั้นไหล่ลื่น ซึ่งจากหนังสือได้สรุปไว้อย่างกว้าง ๆ ด้วย 4 เสาหลักนี้คือ

ความรู้สึก คือ แนวทางที่ดีที่สุด (Feelings are the Ultimate Guide)

จะมีใครรู้สึกและรู้จักเราได้ดีกว่าตัวเราเอง เพราะ ความรู้สึกนี้เองเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ที่สุดว่าเราควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร เรารู้สึกดีกับสิ่งหนึ่งเราก็ทำสิ่งนั้น เรารู้สึกไม่ดีกับสิ่งหนึ่งเราก็ไม่ทำสิ่งนั้น ทุกความรู้สึก เช่น รู้สึกมั่นใจ รู้สึกเสี่ยง รู้สึกสนุก รู้สึกเศร้า รู้สึกเหงา รู้สึกเต็มอิ่ม เป็นต้น ล้วนส่งผลให้เราตัดสินใจในการลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ดังนั้นตัวเราเองจึงเป็น สิทธิอำนาจสูงสุด (Authority) เพราะว่ามีเพียงแค่ตัวเราเท่านั้นที่รู้ว่า เรารู้สึกอย่างไร เราจึงสามารถแนะนำตัวเองถ้าเรารู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ใช่ สิ่งที่สำคัญกับตัวเอง สรุปคือ เราเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวเองที่สุดบนพื้นฐานของความจริงที่เกี่ยวกับเรา

ความสุข คือ เป้าหมายสูงสุด (Happiness is the Ultimate Goal)

ความสุขมักจะเป็นเป้าหมายในชีวิต ซึ่งไม่มีอะไรเหมาะไปว่าการนำความสุขเป็นเป้าหมายของชีวิตสำหรับโลกทัศน์ที่มีรากฐานมากจากสิทธิอำนาจสูงสุดมาจากตัวเราเอง เพราะว่าความสุขเป็นเรื่องปัจเจก หมายความว่า ความสุขขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเรา

โดยเหตุนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จในชีวิตเพียงอย่างเดียวก็คือ การที่คน ๆ หนึ่งได้สัมผัสกับความรู้สึกของเขามากพอที่จะรับรู้และไล่ตามสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขที่สุด

เมื่อเราพิจารณาจากหนังสือในช่วงหลังนี้เราจะเห็นว่ามีหนังสือมากมายที่พูดถึงการพัฒนาตนเอง ใช้ความกล้าในการทิ้งสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข กรอบในการดำเนินชีวิต ความคาดหวังภายนอก และเป้าหมายที่ไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเอง สิ่งนี้เองคือข้อความที่แข็งแกร่ง สร้างแรงบันดาลใจ การตระหนักรู้ถึงตัวเอง และคู่ควรในการถูกยกย่องในวัฒนธรรมฆราวาสนี้ และนี้เป็นข้อความที่สะท้อนถึงธรรมชาติของตัวเองที่ต้องการได้ยินว่า ความสุขของเราคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และมีเพียงเราเท่านั้นที่ตัดสินใจได้ว่าสิ่งใดจะทำเรามีความสุข เราคือนายตัวเอง

การตัดสิน คือ บาปที่หนักหนาที่สุด (Judging is the Ultimate Sin)

ถ้าจะมีอะไรที่บอกสิ่งนี้คือความบาป, สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในวัฒนธรรมฆราวาส “การตัดสินคนอื่น” คือสิ่งนั้น

เราสามารถเดินหน้าไปตามหัวใจของเราและไขว่คว้าหาความสุขของเรา และจงอย่าหยุดเพียงเพราะว่ามีใครมาบอกว่าสิ่งที่เรากำลังทำเพื่อหาความสุขนั้น “ผิด” ถ้าเราต้องการจะเดินทางไปกับใครสักคนด้วยความรักและการอยากช่วยเหลือในการเดินทางของคน ๆ นั้น มี 2 สิ่งที่ต้องทำคือ 1. ยืนยัน (Affirm) ในสิ่งที่เขาเลือก 2. ยืนยันในธรรมชาติของความสุขที่มีความหมายของเขา การตั้งคำถามกับเส้นทางหรือธรรมชาติของความสุขที่พวกเขาเลือกนั้นคือการปิดกั้น ซึ่งเท่ากับ “การตัดสิน” และการตัดสินนี้เท่ากับความเกลียดชัง

สิ่งที่เรามักจะยินจากวัฒนธรรมฆราวาสนี้คือ “การตัดสินทางเลือกของคนอื่นนั้นคือความผิด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าคำวิจารณ์ใด ๆ ที่เราได้รับ ย่อมมาจากความคิดที่ไม่ดี” ข้อความนี้เป็นการยืนยันว่าเราคือผู้ที่มีอำนาจที่ไม่สามารถแตะต้องได้ ซึ่งเล็งไปถึง เราต้องการได้ยินสิ่งที่เราอยากจะได้ยินเท่านั้น

พระเจ้า คือ การคาดเดาสูงสุด (God is the Ultimate Guess)

พระเจ้าอยู่ที่ไหนท่ามกลางสังคมฆราวาสเช่นนี้ ในมุมมองของฆราวาสนิยมนั้น ความเชื่อในสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมอาศัยด้วยกันได้ หากแต่ไม่ยุ่งเกี่ยวหรือต้องการอะไรจากบุคคลในสังคม ดังนั้น พระเจ้าจึงไม่จำเป็นและต้องออกไปจากสังคม คำถามคือ แล้วอะไรละที่ควรออกไปจากสังคม ก็คือ อะไรก็แล้วแต่ที่ยืนยันว่าพระเจ้านั้นทรงดำรงอยู่ และพระองค์ทรงสำแดงว่าอะไรคือแผนการของพระองค์สำหรับเรา และพระองค์มีสิทธิอำนาจเหนือเรา สิ่งนี้คือสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในวัฒนธรรมฆราวาสอย่างชัดเจนที่ว่าด้วย เราต้องรับผิดชอบต่อตัวเราเองเท่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมฆราวาสบางกลุ่มเองก็เป็นมิตรกับทุกความคิดที่เกี่ยวกับพระเจ้า คือ ถนนทุกเส้นก็ล้วนมุ่งสู่พระเจ้าหรือทุกศาสนานั้นล้วนเป็นจริง

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจคือ ในวัฒนธรรมฆราวาสนั้นมีการต่อสู้กันระหว่าง ทุกศาสนานั้นล้วนเป็นจริงและทุกศาสนานั้นล้วนไม่จริง

ดังนั้นแล้ว มุมมองต่อพระเจ้าผ่านสายตาของวัฒนธรรมฆราวาสนั้นมาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า ความจริงทางศาสนานั้นไม่มีมูล และด้วยเหตุผลนี้เอง “ตัวเราเอง” จึงเข้ามาแทนที่สิทธิอำนาจของพระเจ้า และพระเจ้าถูกทำให้เป็นเพียงสิ่งที่บุคคลนั้น ๆ สร้างขึ้นมาตามความคิดของตัวเอง เป็นการคาดเดาขั้นสูงสุด (Ultimate guess) ดังนั้น เราจึงมีอิสระที่จะรับผิดชอบในเรื่องนี้ กล่าวคือ พระเจ้าเป็นความคาดเดาและเป็นสิ่งที่เราเลือกเองได้ว่าจะเชื่อแบบไหนหรือไม่เชื่อเลยก็ได้

แล้วไงต่อ

เมื่อเราพิจารณามาถึงตรงนี้ แนวคิดแบบฆราวาสนิยมอยู่กับเราทุกที่ ทุกวัน ทุกเวลา เราคริสเตียนไม่สามารถหลีกหนีหรือปฏิเสธถึงคลื่นสึนามิจากความคิดนี้ไปได้ ดังนั้น เราคริสเตียนสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อดำเนินชีวิตที่มาจากโลกทัศน์และคุณค่าของพระคัมภีร์ แต่อย่างไรก็ดีโลกทัศน์และคุณค่าแบบคริสเตียนนั้นถูกทำให้เป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย (ซึ่งถ้านับตาม % ของจำนวนคริสเตียนบนโลก โลกทัศน์และคุณค่าแบบคริสเตียนก็น่าจะยังควรเป็นโลกทัศน์และคุณค่าหลักอยู่) และหลาย ๆ ครั้งต้องเป็นคนที่ต้องปิดปากของตัวเองเมื่อเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งแน่นอนว่าสังคมฆราวาสมีความคิดที่ขัดแย้งกันโดยพื้นฐานกับโลกทัศน์และคุณค่าแบบคริสเตียน แต่ถึงแม้ว่าความที่ขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน ด้วยธรรมชาติของสังคมฆราวาสนั่นย่อมเสนอตัวเองและส่งอิทธิพลต่อคริสเตียนด้วยเช่นเดียวกัน ดูได้จากความคิดเห็นที่เราเห็นได้อย่างแพร่หลายในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอาการเมืองออกจากศาสนา แต่ในขณะเดียวกันเรียกร้องให้ศาสนารับใช้การเมือง วัฒนธรรมฆราวาสที่ลดทอนคุณค่าของศาสนา แต่ในขณะเดียวเรียกร้องให้ศาสนาปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมฆราวาส นี่คือสิ่งที่คริสเตียนกำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้ทางความคิด ทางคุณค่า ทางความเชื่อ

สิ่งที่เราจะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ได้ก็คงหนีไม่พ้นการมีโลกทัศน์แบบคริสเตียน ซึ่งหลายๆ ครั้ง คริสเตียนเรามักจะถูกวัฒนธรรมบอกว่าเราต้องแยกเรื่องศาสนากับความเป็นจริงออกจากกัน คริสเตียนหลายคนจึงหลงทาง ไม่ว่าจะตกกับดักของคำว่า “ไม่สำคัญว่าเราจะเชื่ออะไร ตราบใดที่เราเชื่อในบางสิ่ง” (หรือไม่ทำให้ใครเดือดร้อน) แต่ในเป็นจริง ความเชื่อนั้นสำคัญ การเชื่อว่าโลกทัศน์แบบคริสเตียนความจริงนั้นก็สำคัญ เพราะสุดท้ายมันจะส่งผลไปยังการใช้ชีวิตของเรา และโลกทัศน์แบบคริสเตียนนำเสนอให้เรามองโลกนี้ที่พระเจ้าสร้างได้อย่างชัดเจนและช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีบนพื้นของความจริงผ่านพระคัมภีร์ ซึ่งคริสเตียนเราเชื่อว่าเป็นแหล่งข้อมูลความจริงที่มีสิทธิอำนาจเหนือชีวิต ซึ่งแตกต่างจากโลกทัศน์ของวัฒนธรรมฆราวาสที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของสังคม

ในท้ายที่สุด คริสเตียนที่ไม่ได้ตระหนักว่าอะไรคือความจริง อีกทั้งเห็นด้วยและล้อไปกับพลวัตของโลกทัศน์แบบฆราวาสนิยมจะยังคงมีอยู่ในสังคม คริสตจักร กลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ นักกิจกรรมคริสเตียน หรือแม้กระทั้งคริสเตียนที่ไม่เอาอะไรเลย แต่ความจริงจากพระคัมภีร์จะยังคงอยู่และตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา คริสเตียนจำเป็นต้องติดตามความจริงของพระเจ้าในช่วงเวลาแห่งการเติบโตของวัฒนธรรมฆราวาส คริสเตียนจำเป็นต้องรู้ว่าการซื่อสัตย์ต่อความจริงในพระคัมภีร์หมายความว่าอย่างไร ในขณะที่เราเองก็ต้องซื่อตรงกับสถานการณ์ทางวัฒนธรรมฆราวาสที่เกิดขึ้นด้วยความจริงและความรัก

--

--

Arm Denkittikhun
Arm Denkittikhun

Written by Arm Denkittikhun

เชื่อในการเปลี่ยนแปลง • เชื่อในการพัฒนาเมือง • เชื่อในระบบขนส่งมวลชนดีๆ • เชื่อในการมองต้นไม้เขียวๆ จะรักษาเยียวยา • เชื่อในคงอยู่ของจิตวิญญาณ • เชื่อในพระเจ้า